วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เหงื่อไหล ไคลย้อย เรื่องธรรมดาที่อาจผิดปกติ







เหงื่อไหล ไคลย้อย เรื่องธรรมดาที่อาจผิดปกติ (ไทยโพสต์)



ภาวะเหงื่อออกมากตอนหน้าร้อน หรือเมื่อต้องไปอยู่ท่ามกลางแสงแดดนั้น เป็นเรื่องปกติ บางคนอาจจะมีเหงื่อออกมากจนผิดปกติ แค่นั่งเฉย ๆ อยู่ห้องแอร์ เหงื่อก็ไหลชื้นแฉะไปทั้งตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ามือฝ่าเท้า ที่แย่ที่สุดก็คือภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติบริเวณใต้วงแขน



ปัญหาเหงื่อไหลไคลย้อยดังกล่าว พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน เปิดเผยว่า ภาวะนี้เจอได้ 2-3% ของคนทั่ว ๆ ไป แต่มีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่ต้องพบแพทย์เพราะควบคุมด้วยการใช้ยาดับกลิ่นระงับเหงื่อ หรือโรลออนปกติแล้วเอาไม่อยู่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีพิเศษ



หากเหงื่อออกมากเฉพาะส่วน เช่น รักแร้ ฝ่ามือ-ฝ่าเท้า มักจะหาสาเหตุของโรคไม่เจอ บางคนก็บอกว่าถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ถ้ามีเหงื่อออกมากมายตลอดทั้งตัว บางครั้งต้องหาสาเหตุเหมือนกัน เพราะบ่อยครั้งที่มีโรคภายในร่างกายที่พบได้บ่อยก็ ได้แก่ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ผู้หญิงใกล้วัยทองที่เรียกว่า Hot flush หรือมีอาการสะบัดร้อน สะบัดหนาว อยู่ในห้องแอร์อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศา คนอื่นเขาใส่เสื้อหนาวนั่งทำงาน แต่ผู้หญิงใกล้วัยทองบางคนอาจจะเหงื่อแตกไปทั้งตัว บางคนมีการติดเชื้อผิดปกติบางอย่าง มีไข้สูง ๆ ต่ำ ๆ เป็นบางช่วง เช่น เป็นวัณโรคแอบแฝงก็ทำให้มีเหงื่อออกมากได้ รวมไปถึงมะเร็งบางชนิดก็อาจจะทำให้คุณมีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ ซึ่งคงต้องสืบหาสาเหตุให้เจอ



สำหรับเหงื่อออกมากผิดปกติเฉพาะส่วน โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การรักษาง่าย ๆ โดยใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมคลอไรด์ 10-15% ทาใต้วงแขน ก็มักจะช่วยระงับเหงื่อที่มากผิดปกติ รวมไปถึงช่วยดับกลิ่นได้ด้วย แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะหากใช้เปอร์เซ็นต์สูงเกินไป ก็มีผลให้เกิดการระคายเคืองได้ เนื่องจากผิวใต้วงแขนนั้น มักจะเป็นผิวอ่อน บอบบาง



แต่พวกโรลออนดับกลิ่นตัวนั้น มักจะไม่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมคลอไรด์ จึงได้แค่ลดกลิ่น แต่ไม่ระงับเหงื่อ หากใครเหงื่อออกมากที่มือและเท้า ทางการแพทย์เราใช้วิธีการทำไอออนโตโฟเรซิส (Iontophoresis) ให้แช่มือและเท้าในอ่างน้ำ พร้อมกับปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ จากเครื่องไอออนโต จะช่วยไประงับการทำงานของต่อมเหงื่อ โดยต้องนั่งแช่อยู่ประมาณ 10-20 นาที และก็ต้องทำกันหลาย ๆ ครั้ง อย่างน้อย ๆ 6-10 ครั้ง สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง กว่าจะรู้สึกเห็นผล และได้ผลแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แม้เมื่อภาวะเหงื่อออกตามมือตามเท้าดีขึ้นแล้ว ก็ยังจำเป็นที่จะต้องทำไอออนโตกันบ้าง ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ มิฉะนั้นก็จะกลับมาเหงื่อมากผิดปกติอีก



ถัดมาก็เป็นเรื่องของการใช้ยา สาเหตุที่ทำให้เหงื่อออกมากนั้น ก็เพราะว่ามีการกระตุ้นให้ระบบประสาทอัตโนมัติหลั่งสารที่เรียกว่า อะซิติลโคลีน (Acetylcholine) จากปลายประสาทมากผิดปกติ จนไปกระตุ้นให้ต่อมเหงื่อทำงานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแพทย์บางคนก็จะแนะนำให้ใช้ยาต้านกระแสประสาทที่เรียกว่า Anticholinergics ซึ่งควรจะใช้ในรายที่มีเหงื่อออกมากทั้งตัว เพราะถ้าหากเป็นเฉพาะที่รักแร้ แล้วต้องกินยาอาจมีผลเสียไปบล็อกกระแสประสาททั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการมึนงง การควบคุมระบบปัสสาวะผิดปกติ ปากแห้ง และอื่น ๆ ตามมาได้



ใหม่ล่าสุดที่ได้รับการยอมรับและผ่าน FDA ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2004 นั่นก็คือการใช้สารโบทูลินัมท็อกซิน A ฉีดเข้าไปในบริเวณที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติ สารตัวนี้ก็คือเจ้าโบท็อกซ์นั่นเอง "แปลว่าหากใครเป็นโรคนี้ ก็คงต้องทำใจที่จะโดนฉีดโบท็อกซ์ เจ็บตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ กัน ปีละ 1-2 ครั้ง ข้อดีก็คือ ช่วยลดภาวะกลิ่นตัวไปด้วยพร้อม ๆ กัน เนื่องจากเมื่อเหงื่อออกน้อย การหมักหมมของแบคทีเรียก็น้อย ก็จะทำให้กลิ่นตัวน้อยตามลงไปด้วย อาจมีข้อแทรกซ้อนได้บ้าง นั่นก็คือรอยฟกช้ำดำเขียวจากจุดที่ถูกเข็มฉีดยาจิ้ม และบางครั้งตัวยาโบท็อกซ์อาจจะซึมลึกไปมีผลถึงกล้ามเนื้อลึก ๆ ใต้วงแขน จนบางคนรู้สึกชาไปบ้าง แต่ก็มักจะหายได้เองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์" คุณหมอพักตร์พิไลกล่าว


คุณหมอย้ำว่า การดูแลสุขภาพร่างกายส่วนนี้ไว้บ้างเป็นเรื่องไม่ควรมองข้าม เพราะบางครั้งอาจหมายถึงโรคภัยไข้เจ็บแอบแฝง ซึ่งคงต้องปรึกษาแพทย์ดู เพื่อที่จะรู้ว่าคุณมีปัญหาโรคอื่น ๆ หรือไม่ ถ้าหากแน่ใจว่าไม่มีปัญหาอื่น ๆ แล้ว การดูแลรักษาสุขลักษณะส่วนตัว ก็จะช่วยให้คุณมีความมั่นใจในตัวเองที่ดี อย่างน้อยเริ่มต้นด้วยการอาบน้ำ ทำความสะอาดตัวเองให้ได้เป็นประจำ ใช้ยาระงับกลิ่น (Deodorant) และยาระงับเหงื่อ (Antiperspirants) และอาจใช้แป้งฝุ่น แป้งเด็ก เข้ามาช่วยสักนิดหนึ่ง เลือกเสื้อผ้าอีกสักหน่อย เพราะหากใช้เสื้อผ้าที่ตัดเย็บมาจากวัสดุสังเคราะห์ มักจะมีผลให้การระบายเหงื่อไม่ค่อยดี เลือกใช้ผ้าฝ้ายจะช่วยให้เหงื่อที่ไหลออกมานั้น ระเหยหายไปได้เร็วกว่า ไม่ติดเหนียวอยู่ที่ตัว หากจำเป็นจริง ๆ ก็ต้องถึงมือคุณหมอ ทำไอออนโตหรือทำการฉีดโบท็อกซ์ซะ จะได้หมดห่วง หมดกังวลกับปัญหานี้





ขอขอบคุณข้อมูลจาก




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น